จุดสังเกต 8 ข้อ ไม่ตกเป็นเหยื่อ “แชร์ลูกโซ่”

1.เอะใจไว้ก่อน! ไม่ได้คุยกันมานาน แต่จู่ๆ ทักแชทมาทักทายไม่ว่าจะญาติ เพื่อนสนิท คนรู้จัก แต่ห่างหายจากการติดต่อกันไปนานๆ วันหนึ่งทักมาชวนคุย ถามสารทุกข์ สุขดิบ สารพัดเรื่องราว และเริ่มมีคำพูดให้กำลังใจ สภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ แสดงความเห็นใจ บอกให้สู้ ก่อนจะเริ่มเสนออีกทางเลือกว่าสามารถเป็นตัวช่วยได้ดีในยามนี้

2.พูดอย่างเดียวอาจไม่เชื่อ วิธีต่อมาคือเริ่ม โชว์ชีวิตที่ดีและความรวยให้ดูโน้มน้าวให้โลกนี้ดูสวยงามไปหมด พร้อมยกตัวอย่างให้เห็นจากการแต่งกายที่ดูดีมีฐานะ กินหรู ใช้รถแพง มีสมบัติพัสถานต่างๆ และพยายามบอกว่าทั้งหมดได้จากการลงทุน พลิกชีวิตตัวเองให้ดีขึ้นทั้งครอบครัว โชว์รถหรู ของแบรนด์เนม หรือโชว์ภาพแสดงความใกล้ชิดบุคคลที่มีชื่อเสียงหลายวงการมาให้ดูว่าเขาคนนี้ก็ลงทุนซึ่งความจริงอาจเป็นเพียงแค่ขอถ่ายรูป หรือบางครั้งก็โชว์ภาพกำลังดูกราฟดัชนีหลายหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่ใครๆ ก็สามารถเปิดกราฟิกแบบนั้นได้

3.ผลตอบแทนที่สูงลิ่วเกินสินทรัพย์ประเภทอื่น ผลตอบแทนสูงย่อมเสี่ยงสูงแต่ก็พร้อมจะลุย จะใช้ความโลภนำเหตุผล แต่อยากให้ลองฉุกคิดสักนิด แล้วดูข้อเท็จจริงว่าแม้จะยุคดอกเบี้ยขาขึ้น แต่ขนาดสินทรัพย์ตราสารทุนแบบมีหน่วยงานกำกับดูแล กว่าจะได้ผลตอบแทน 10 % ยังล้มลุกคลุกคลาน อยู่หน้าจอสมาร์ทโฟนจะเป็นไปได้ขนาดไหน ย้ำว่าไม่มีผลตอบแทนใดได้มาง่ายในยุคปัจจุบัน

4. เครื่องมือแสร้งว่าทำเงินได้ มักอ้างอิงการลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่น่าเชื่อถือ เช่น ลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์อย่าง ราคาทองคำ น้ำมัน หรือสินค้าเกษตร สกุลเงินดิจิทัล ตลาดหุ้น การขายตรง อาหารเสริม เครื่องสำอาง หรืออัตราแลกเปลี่ยนต่างประเทศ (FOREX) ซึ่งความจริงมีแค่ธนาคารพาณิชย์เท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้เทรด รวมถึงชวนลงทุนในบริษัทมหาชนที่เตรียมจะเข้าตลาดหุ้น

5.จัดกลุ่มเสริมความปึ้กให้เครือข่าย เริ่มให้เข้ากลุ่มห้องสนทนาช่องทางออนไลน์ต่างๆ ไว้พูดคุยเรื่องเดียวกัน และให้ลองลงทุนครั้งแรกเพื่อให้รู้สึกไว้ใจว่าจะได้ผลตอบแทนแน่นอน เพราะหวังเป็นแรงกระตุ้นให้พร้อมเทหน้าตักเติมเงินเข้าไปอีก ก่อนจะเริ่มแนะนำให้ชักชวนคนอื่นเข้ามาลงทุนด้วยกันเพื่อขยายวงเครือข่าย

6. ต้องใจแข็งพอกับ ‘5 ไม่’

แม้เข้ากลุ่มวงสนทนาแล้วก็ไม่เป็นไร ขอเพียงเช็กใจกับ ‘5 ไม่’ นี้ก่อน

ไม่โลภ ต้องไม่เห็นกับผลตอบแทนที่สูง

ไม่หูเบา เชื่อว่าลงทุนไปแล้วมีแต่ได้ผลตอบแทนสูงไม่มีอะไรเสียหาย

ไม่คล้อยตามง่าย ไปเล่าให้บุคคลที่สามฟังเพื่อรีเช็ก

ไม่ใจร้อน อย่ารีบส่งข้อมูลส่วนตัว เช่น ไอดีไลน์ อีเมล์ หน้าสมุดบัญชีธนาคาร

ไม่หลงเชื่อ หลังหาข้อมูลและปรึกษาคนอื่น ลองถามตัวเองอีกครั้งว่า เข้าใจและมั่นใจกับการลงทุนนี้ชนิดที่เงินต้นอาจไม่ได้คืนกลับมาเลย ถ้าคำตอบไม่ก็จงหยุดทันที

7.สายด่วนรีเช็กข้อมูล

นำข้อมูลบริษัทที่แนะนำลงทุนไปตรวจสอบหน่วยงานกำกับหรือที่เกี่ยวข้องก่อน เช่น การจดทะเบียนหรืองบการเงินจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โทร.1570 สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค โทร.1166 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โทร.1207 หรือคิดว่าตัวเองเริ่มเป็นเหยื่อแชร์ลูกโซ่ให้เก็บหลักฐานและสอบถามไปที่ ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ กระทรวงการคลัง โทร.1359 กรมสอบสวนคดีพิเศษโทร.1202

8. หาข้อตอบได้ยากคือสัญญาณบอกว่าใช่

หากเช็กข้อมูลกับหน่วยงานทางการแล้วยังไม่ชัดเจนหรือรู้สึกว่าได้ข้อมูลยาก ยิ่งถ้าเกิดรู้สึกไม่แน่ใจ ขอให้เทน้ำหนักไปก่อนว่า มีโอกาสสูงที่เป็นการหลอกลวงของวงแชร์ลูกโซ่แน่นอน ถือว่าคิดลบเพื่อให้ชีวิตเป็นบวกไว้ก่อน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *